อธิบดี สกร. ประสานความร่วมมือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาลดช่องว่าง สร้างโอกาสทางการเรียนรู้แก่ผู้ที่หลุดจากระบบการศึกษา

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าถึงผลจากการประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาและประชาชนที่พลาดโอกาสทางการศึกษา ร่วมกับ ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่า สกร.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ให้บุคคลทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็น ผู้ด้อย พลาด ขาดโอกาสทางการศึกษา รวมถึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ให้เข้าสู่เส้นทางการศึกษา ทั้งนี้ได้สั่งการให้สถานศึกษาดำเนินการเก็บข้อมูล เพื่อสำรวจเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาให้เข้าสู่ระบบการจัดการเรียนรู้ของ สกร. และให้สถานศึกษาในพื้นที่เปิดรับสมัครผู้เรียน ได้ตลอดเวลาตามความประสงค์ การเรียนกับ สกร. เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น การจัดการเรียนรู้ของ สกร. เป็นการเรียนฟรีแบบ 100 % ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime ปรับระบบการเรียนรู้ให้ทันสมัย เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
วัตถุประสงค์หลักในการหารือแนวทางการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ครั้งนี้มี 2 ประการ คือ 1) ขอความร่วมมือให้ กสศ. นำเสนอองค์ความรู้หรือแนวความคิดสมัยใหม่ เพื่อนำมาพัฒนาครู สกร. เนื่องจากครู สกร. เป็นนักปฏิบัติ มีความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ ใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมาย หากได้รับการพัฒนาเชิงวิชาการจะสามารถทำให้เป็นนักจัดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น 2) ต้องการให้ทั้ง สกร.และ กสศ. ช่วยกันเสริมเติมเต็มการทำงาน เพระ สกร. มีหน่วยจัดการเรียนรู้ในทุกตำบล มีบุคลากรที่พร้อมทำงาน และในส่วนของ กสศ. มีโครงการที่จะส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จึงถือเป็นการสอดรับการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นการเติมเต็มการทำงานให้มีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และ กองทุนเพื่อความเสอมภาคทางการศึกษา (กสศ.) จะทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดการเรียนรู้ (MOU) เพื่อสร้างโอกาสทั้งด้านการเรียนรู้ การประกอบอาชีพให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในเร็ววันนี้
นายธนากร กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง สกร. (สำนักงาน กศน.เดิม) และ กสศ. เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน โดยมีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ประจำอำเภอ (กศน.อำเภอ/เขต) เข้าร่วมเป็นหน่วยจัดการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จำนวน 11 แห่ง ใน 9 จังหวัด ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ประจำอำเภอภูซาง (สกร.ประจำอำเภอภูซาง) จังหวัดพะเยา สกร.ประจำอำเภอปัว จังหวัดน่าน สกร.ประจำอำเภออมก๋อย อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ สกร.ประจำอำเภอแจ้ห่ม อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง สกร.ประจำอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ สกร.ประจำอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร สกร.ประจำอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร สกร.ประจำอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และ สกร.ประจำอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีเยาวชนและแรงงานนอกระบบ จำนวน 1,196 คน ได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“คุณภาพชีวิตอาจไม่เท่าเทียมกัน แต่โอกาสทางการเรียนรู้ต้องเท่าเทียมกัน” เมื่อเขาอยากได้โอกาสทางการเรียนรู้ สกร. ก็พร้อมเป็นผู้มอบโอกาส เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน นายธนากร กล่าว
ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 มีความคล้ายคลึงสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 คือ การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ กสศ. มีการดำเนินงานด้านการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งเน้นในการใช้รูปแบบ Zero Dropout มาเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนำเด็กทุกคนเข้าสู่ห้องเรียน แต่การเรียนรู้ต้องมีทางเลือกสอดรับกับชีวิตและความจำเป็นต่าง ๆ เพื่อพาเด็กและเยาวชนกลับสู่เส้นทางการศึกษา จึงมองเห็นถึงความสำคัญของ สกร. ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการจัดการศึกษา และมีหน่วยจัดการเรียนรู้กระจายอยู่ทุกตำบล โดยประสานความร่วมมือให้ สกร. เป็นผู้ดำเนินการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาต่อไป


Skip to content