เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ให้การต้อนรับ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมคณะ ในโอกาสร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง ณ ห้องประชุมรรจง ชูสกุลชาติ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมี นายธานี เครืออยู่ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา นางเกณิกา ซิกวาร์ทวอน ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมดังกล่าวนายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับผู้ต้องขัง ว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีแนวทาง การดำเนินงานด้านจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้ต้องขัง โดยจะพัฒนาหลักสูตรขึ้นใหม่ ให้มีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้ต้องขัง ไม่อยากให้การศึกษากับวิถีการเรียนรู้แยกออกจากกัน ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เตรียมการหารือกับผู้รู้หรือนักการศึกษาในเรือนจำ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรให้กับผู้ต้องขัง หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ต้องมีความยืดหยุ่น เหมาะสม ทุกกิจกรรม ที่ผู้ต้องขังปฏิบัติเป็นกิจวัตรทั้งกิจกรรมบำบัด กิจกรรมพัฒนาพฤตินิสัย การฝึกอาชีพของผู้ต้องขังล้วนเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ให้ศึกษาหาแนวทางเพื่อนำมาเทียบโอนการเรียนรู้ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาทุกกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการศึกษากับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กศน.เดิม) ต้องใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพียงหลักสูตรเดียว ซึ่งมีความแข็งตัวมากเกินไป ไม่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย แต่หลังจากนี้จะมีการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละกลุ่มเป้าหมายจากการหารือแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้ต้องขัง ที่ประชุมได้มีมติร่วมกัน 7 เรื่อง ได้แก่1) จัดทำแนวทางการเรียนรู้ในเรือนจำ2) การจัดการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับให้กับผู้ต้องขังที่ไม่มีวุฒิการศึกษา3) การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้เรียนในเรือนจำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การส่งต่อผู้เรียนในขณะต้องโทษ และการส่งต่อผู้เรียนเมื่อพ้นโทษแล้ว อาจให้กรมราชทัณฑ์ประสานงานมายังสถานศึกษา สกร.อำเภอ/เขตในพื้นที่4) การขาดแคลนครูผู้สอนในเรือนจำ โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้จะจัดส่งครูผู้สอนเข้าไปให้ความรู้ในเรือนจำกรณีที่ครูไม่เพียงพอ5) จัดรูปแบบการเรียนรู้ “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) ตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ) เนื่องจากผู้ต้องขังไม่มีเวลาเพียงพอในการเรียน จึงต้องการให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้จัดทำรูปแบบการเรียน E-Learning ในระบบปิด เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าเรียนได้ตามเวลาที่สะดวก6) การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดการเรียนรู้ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กับกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากในอดีตได้เคยทำ MOU มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จึงต้องการให้มีการหารือด้านความร่วมมือกันใหม่อีกครั้งให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น7) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และกรมราชทัณฑ์“ประเด็นสำคัญในการหารือครั้งนี้ คือ จะมีวิธีการจัดการเรียนรู้อย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายผู้ต้องขัง เมื่อพ้นโทษแล้วจะต้องได้รับวุฒิการศึกษา มีทักษะชีวิตที่ดี สมบูรณ์พร้อมทั้งกายและใจ มีอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และประเด็นการแก้ปัญหาให้กับผู้ต้องขังที่ยังไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 171,658 คนได้รับคุณวุฒิทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ไม่รู้หนังสือในเรือนจำ ซึ่งมีจำนวนถึง 18,814 คนให้อ่านออกเขียนได้ โดยจะเร่งผลักดันให้กลุ่มผู้ต้องขังดังกล่าวเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาให้มากที่สุด” นายธนากร กล่าว
created with
Accessibility Tools