กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จัดประชุมพิจารณา (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้รับมอบหมายจาก นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณา (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพมหานคร

นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณา (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2566 ว่า การทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาหรือการจัดการเรียนรู้จะมีคุณภาพหรือไม่ อย่างไรนั้น ผู้มีหน้าที่จัดการศึกษาจำเป็นต้องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาและการที่จะจัดให้มีการประเมินผล และการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาหรือการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา จำเป็นต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์ที่เราต้องการให้เกิดขึ้นกับสถานศึกษา หรือที่เรียกว่ามาตรฐานการศึกษา กำหนดไว้ เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่ง ทุกประเภทในสังกัด ซึ่งอาจมีบริบท ศักยภาพและความพร้อมที่แตกต่างกัน ได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาคุณภาพให้เกิดมาตรฐานที่สามารถเทียบเคียงกันได้ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะมีบริบทที่แตกต่างกัน

“มาตรฐานการศึกษา” ที่จะกำหนดขึ้นต้องมี “ความเป็นกลาง” สามารถนำไปใช้ในการประเมินผล และการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาได้อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่เกณฑ์ที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นแก่สถานศึกษาใดสถานศึกษาหนึ่ง แต่เป็นการสร้างเกณฑ์เพื่อใช้ในการประเมินคุณภาพ เพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา รวมถึงเพื่อนำไปใช้เป็นหลักในการควบคุมคุณภาพทางการศึกษาของสถานศึกษา เท่านั้น มิใช่เป็นการสร้างเกณฑ์เพื่อการประกวด หรือแข่งขัน ทั้งนี้ ในการจัดทำมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษานั้น ต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติที่กำหนด เนื่องด้วย มาตรฐานการศึกษาของชาติ ถือเป็นข้อกำหนดร่วมอันสูงสุดของการจัดการศึกษาไทย ภายใต้บริบท ระดับ และประเภทการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน ตามอำนาจและหน้าที่ในการจัดการศึกษาและจัดการเรียนรู้ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคนไทยให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์เป็นไปตามผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการศึกษาของชาติ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ต่อไป

นอกจากนี้ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 กฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 รวมถึงระเบียบกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ว่าด้วยการประกันคุณภาพการศึกษา สำหรับสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2567 ตลอดจนหน้าที่และอำนาจในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่กำหนดไว้ และควรคำนึงถึงปัจจัยภายนอก สภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความสามารถในการเทียบเคียงกับกรอบมาตรฐานการศึกษาของหน่วยงานอื่นที่จัดการศึกษาในลักษณะที่ใกล้เคียงกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย เพื่อให้การทำงานต่าง ๆ เกิดการพัฒนา และดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ ที่ตรงจุดและมีคุณภาพ ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม นายชัยพัฒน์ กล่าว

นายธานี เครืออยู่ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา กล่าวว่า วัตถุประสงค์เพื่อพิจารณา (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้สอดคล้องตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ กฎหมายการศึกษา และอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษา ภายใต้แนวคิด “การมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในหน่วยงาน และสถานศึกษา ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงผู้จัดการเรียนรู้ ” ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายประกอบไปด้วย ผู้แทนผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และข้าราชการครู ซึ่งเป็นผู้แทนจากพื้นที่ 5 ภูมิภาค และนักวิชาการศึกษาจากส่วนกลาง กรมส่งเสริมการเรียนรู้ รวมทั้งสิ้นจำนวน 48 คน

ผลจากการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีความสมบูรณ์ สำหรับนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบในการดำเนินงานตามกระบวนการของการกำหนดมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยผ่านการประชาพิจารณ์ เป็นที่ยอมรับแก่สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปสู่การประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสามารถนำไปสู่การใช้ปฏิบัติในระดับสถานศึกษา ต่อไป

Skip to content