ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือกำหนดแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ศว.) และสถานศึกษาที่มีภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมด้วยผู้บริหารศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และสถานศึกษาที่มีภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ ให้การต้อนรับ และเข้าร่วมประชุม

วันที่ 17 มกราคม 2568 นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือกำหนดแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ศว.) และสถานศึกษาที่มีภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ โดยนายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมด้วยผู้บริหารศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และสถานศึกษาที่มีภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ ให้การต้อนรับ และเข้าร่วมประชุม พร้อมกันนี้ ดร.นิธิมา นาคทอง ผู้แทนจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมหารือแนวทางพัฒนาห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ในโอกาสนี้ด้วย ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ ชั้น 6 กรมส่งเสริมการเรียนรู้
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมหารือกำหนดแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมและเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสถานศึกษาที่มีภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ ว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสให้ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศดำเนินการในสองเรื่อง คือ การจัดทำห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ให้เป็น Central Lab สำหรับนักเรียนที่ขาดโอกาสในโรงเรียนขยายโอกาสของ สพฐ. พื้นที่ห่างไกล หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดโอกาส ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในห้องแลปของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ทั้งนี้ ห้องแลปที่จัดสร้างขึ้นควรสร้างให้เหมาะสมกับนักเรียนที่อยู่ในช่วงชั้นที่สองและช่วงชั้นที่สาม โดย สกร. มีหน้าที่จัดสร้างห้องแลป และจัดเตรียมวัสดุ เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับจัดการเรียนการสอน ส่วนหน้าที่จัดการเรียนการสอนทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เป็นหน้าที่ของ สพฐ. ทั้งนี้ตนจะประสานงานไปยัง สพฐ.เอง สำหรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จะเชิญโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ที่ขาดโอกาส หารือร่วมกันจัดตารางเข้าใช้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
เรื่องที่สอง คือ ทรงมีแนวคิดในการพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทุกแห่ง พัฒนาให้เป็นห้องเรียนนวัตกรรม โดยรวบรวมนวัตกรรมในท้องถิ่น นวัตกรรมการประกอบอาชีพ หรือนวัตกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้มีความสอดรับกับบริบทในพื้นที่ ท้องถิ่น ซึ่งนวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้มีองค์ความรู้และนำมาถอดบทเรียน ถือเป็นการถ่ายทอดและการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ถ้ามีคนเข้ามาเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ก็จะเข้ามาเรียนรู้ในห้องเรียนนวัตกรรมนี้ได้อีกด้วย
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการพัฒนาห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และห้องเรียนนวัตกรรมแล้ว ศูนย์วิทยาศาสตร์จะมีแนวทางพัฒนาการเรียนรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างไร เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป

Skip to content