สกร. เข้ม! ลุยพัฒนาหลักสูตรอาชีพให้สอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ สคช.

สกร. เข้ม! ลุยพัฒนาหลักสูตรอาชีพให้สอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ สคช.

วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองด้านอาชีพ ให้สอดคล้องตามมาตรฐานวิชาชีพ และนายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ บรรยาย เรื่องความสำคัญและกระบวนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง เพื่อเตรียมพัฒนาคนไปสู่การพัฒนาอาชีพ พร้อมทั้งนางสาวณัฏฐ์ณัชชา รัชฉวีวรรณ ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และคณะร่วมบรรยายเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรอาชีพให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมี นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ พร้อมด้วยคณะผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) คณะอาจารย์จากสถาบันการศึกษา ได้แก่ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยชินวัตร คณะอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และคณะอาจารย์ประจำหลักสูตรออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการครู ครู สกร.และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
นายธนากร ดอนเหนือ กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตรอาชีพให้สอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) นั้นนับว่ามีความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง ด้านทักษะอาชีพในสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เพราะเป็นการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เรียนและภาคแรงงาน โดยเป็นการกำหนดสมรรถนะผู้เรียนอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานอาชีพของ สคช. ที่กำหนดสมรรถนะที่จำเป็นในแต่ละอาชีพไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้สถานศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างแม่นยำ และส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาและประเมินสมรรถนะของตนเองได้ตามระดับมาตรฐานอาชีพ ช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้การจัดการเรียนรู้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ขอขอบคุณคณะทำงานจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ คณาจารย์จากสถาบันการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกท่านเป็นอย่างยิ่งที่ให้ความสำคัญและจับมือร่วมพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสกร.อย่างเข้มแข็งในครั้งนี้
นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองด้านอาชีพ จำเป็นต้องมีการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ครอบคลุมสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น วัยเด็ก บ่มเพาะ ควรสร้างความตระหนักรู้ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาตนเองและการทำงาน ผู้เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ควรรู้จักการสำรวจตนเองว่าต้องการประกอบอาชีพใดในอนาคตเพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกอาชีพ เน้นการสร้างชุดทักษะความรู้ (skill set) ของแต่ละหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์คุณค่าของการเรียน มีความรู้ มีทักษะ เสริมสร้างบุคลิกภาพ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข พร้อมสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้สำหรับประชาชนในชุมชนเพื่อก่อให้เกิดนิสัยการเรียนรู้ อันเป็นหนึ่งในกลไกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองด้านอาชีพที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ มาตรฐานการเรียนรู้ ต้องมุ่งเป้าให้ผู้เรียนมีความรู้ (knowledge) มีทักษะ (skill) และมีเจคติที่ดีต่อการทำงาน มองเห็นช่องทางการประกอบอาชีพ (career path) ในอนาคต
ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพิ่มเติมว่า กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เป็นกรอบแนวทางการเชื่อมโยงระบบคุณวุฒิทางการศึกษาของผู้เรียน ทั้งในระบบ นอกระบบหรือการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ให้สามารถนำคุณวุฒิทางการศึกษา มาเข้ารับการทดสอบเพื่อประเมินมาตรฐานการทำงาน ซึ่งมีองค์ประกอบของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติทั้งหมด 8 ระดับ บนฐานของผลลัพธ์การเรียนรู้ ที่สื่อถึงคุณลักษณะการเรียนรู้ ทั้งความรู้ (knowledge) ทักษะ (skills) และความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบ (Application and Responsibility ภายใต้ความซับซ้อนที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองด้านอาชีพให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพหรือสมรรถนะสนับสนุนการทำงาน จำเป็นต้องศึกษาและใช้หน่วยสมรรถนะของมาตรฐานการเรียนรู้ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งอาจจะพัฒนาเพื่อให้ได้กรอบคุณวุฒิวิชาชีพทั้งระดับ หรืออาจพัฒนาโดยเชื่อมโยงกับบางหน่วยสมรรถนะได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านหลักสูตรดังกล่าวสำเร็จ ก็จะได้รับหนังสือรับรองสมรรถนะ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางสำหรับการเข้าสู่ระบบตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาหลักสูตรด้านอาชีพครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ สกร. ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2567 โดยผลงานทั้ง 77 ผลิตภัณฑ์ เป็นงานที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้และ สกร.จังหวัดทั่วประเทศคัดเลือกจากผลงานการจัดกิจกรรมอบรมอาชีพที่ดีเด่น จังหวัดละ 1 อาชีพ 1 ผลิตภัณฑ์ และได้ผ่านการพัฒนาจากระยะที่ 1 ซึ่งเรามีเป้าหมายในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองด้านทักษะอาชีพ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพครู สกร. ให้มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะด้านการพัฒนาหลักสูตร ให้สถานศึกษามีหลักสูตรที่มีคุณภาพที่สอดคล้องกับสมรรถนะของมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นด้วยการนำทรัพยากร ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ในชุมชนมาเป็นฐานในการพัฒนา เพื่อให้หลักสูตรดังกล่าวเป็นต้นแบบสำหรับการขยายผลการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองด้านอาชีพในระดับพื้นที่ต่อไปในอนาคตได้อย่างมีมาตรฐาน นำไปสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม เป็นแนวทางสำคัญในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน โดยเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางสำคัญในการสามารถสะสมหน่วยกิตและเทียบโอนผลการเรียนรู้เข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพหรือระบบการศึกษาได้ ทั้งยังช่วยผลักดันให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีความยั่งยืน ในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ ต่อไป

Skip to content