วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มอบหมายให้ นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพครู สกร. ภาคเหนือ ด้วย อววน.” และกล่าวถึงความร่วมมือการดำเนินงานของ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และ รศ.ดร อุเทน คำน่าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวต้อนรับ พร้อมทั้ง นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อว. กล่าวถึงความร่วมมือการดำเนินงานของ สป.อว. โดยมี นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย ผศ.ไพโรจน์ วรพจน์พรชัย ผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผู้บริหารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และ บุคลากรจากกรมส่งเสริมการเรียนรู้ 10 จังหวัดภาคเหนือ ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา และ ผู้บริหารคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัย 10 แห่ง ในภาคเหนือ เข้าร่วมการประชุมกว่า 80 คน ณ โรงแรมคุ้มภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งการศึกษาดูงาน ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในระหว่างวันที่ 14 – 16 กรกฎาคม 2567
นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพครู สกร. ภาคเหนือ ด้วย อววน.” ที่จัดขึ้นในวันนี้ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับ สกร. ขอขอบคุณ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตลอดจนเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกับ สกร. นับว่าเป็นโอกาสอันดีในการร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกันในวันนี้ เนื่องจาก สกร. ยังขาดบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ขาดความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาทักษะและการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพ จึงมีความจำเป็นต้อง Upskill/Reskill ครู สกร. ทั่วประเทศ ด้วยองค์ความรู้ด้าน อววน. และเสริมทักษะที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องตาม พรบ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของ สกร. อีกด้วย จากการประชุม หารือร่วมกันที่ผ่านมาของผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองหน่วยงานได้มีแนวทางและเป้าหมายความร่วมมือสำคัญที่สอดคล้องและตรงกับกลุ่มเป้าหมายร่วมกันในหลายๆด้าน ดังนั้นเพื่อให้เกิดแผนการบูรณาการความร่วมมือการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ระหว่างหน่วยงาน สถานศึกษาในสังกัด ของ สกร. จึงนำมาสู่กิจกรรมนำร่อง 10 จังหวัดภาคเหนือในวันนี้ ซึ่งนับว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ สำหรับบุคลากร สกร. ได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สามารถนำไปประยุกต์กับการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ในพื้นที่ เกิดแนวทางการจัดทำแผนงานเพื่อพัฒนาชุมชน รวมทั้งเกิดพลังภาคีเครือข่ายการทำงานที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นขั้นแรกของก้าวต่อไปที่จะขยายผลการทำงานครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดในอนาคต ผ่านกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ การร่วมกันจัดทำหลักสูตร Re-skill Up-skill และ New skill ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม การร่วมจัดทำแผนงาน/โครงการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการร่วมเป็นหน่วยประสานงานเพื่อดำเนินกิจกรรมในพื้นที่รับผิดชอบให้สามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ผ่านครู สกร.โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน รวมทั้งประสาน กำกับ ดูแลและติดตามกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สกร. และแผนงาน/โครงการในพื้นที่ต่อไป
นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ กล่าวว่า สป.อว. โดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กปว. มีภารกิจขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้าน ววน. โดยเรา “เป็นสะพาน” “เชื่อมโยง” ให้เกิดการใช้ประโยชน์ ววน. เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยอาศัยเครือข่าย แพลทฟอร์ม กลไกต่างๆที่เชื่อมโยง จับคู่ประสานสัมพันธ์ให้เกิดการใช้ประโยชน์ด้าน ววน.ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานในสังกัด อว.สถาบันอุดมศึกษาที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งในการขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้ เรามีเป้าหมายในการสนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้และบุคลากร ด้าน ววน. เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สกร. ที่สอดคล้องตามประเด็นความต้องการ Re-skill Up-skill และ New skill ของ สกร. ประสานหน่วยงานในสังกัด อว. เครือข่าย อว.และสถาบันอุดมศึกษาเพื่อร่วมจัดทำแผนงาน/โครงการด้าน ววน.ในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับ สกร.รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณภายใต้แพลตฟอร์มของ กปว. สำหรับการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการด้าน ววน.เพื่อพัฒนาพื้นที่ ในการนำไปสู่เป้าหมายการบูรณาการงานและผลักดันให้เกิดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพครู สกร.ด้วยองค์ความรู้ด้าน ววน.ในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัดภาคเหนือ ให้เป็นนวัตกรมืออาชีพอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
created with
Accessibility Tools