สกร. ทะลายขีดจำกัด ปรับหลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายการจัดทำหลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง (การศึกษาต่อเนื่อง เดิม ) โดยมีนางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผอ.กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารหน่วยงาน สถานศึกษา ข้าราชการครู และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสุนทร สุนันท์ชัย ชั้น 4 กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ในระหว่างวันที่ 23-24 กรกฏาคม 2567
นายธนากร ดอนเหนือ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้มอบหมายให้กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย (กศ.) ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดทำแนวทางการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง นั้น สกร.ได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ ประสานเชื่อมโยงสภาพบทบาทภารกิจที่เกี่ยวข้อง และสรุปเสนอข้อหารือและขอทำความตกลงหลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งกรมบัญชีกลางได้แจ้งให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้สามารถดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยเป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบการฝึกอบรมให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ให้คำนึงถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ และหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์เป็นสำคัญ ประกอบกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มาตรา 6 (2) มาตรา 9 และมาตรา 10 ที่กำหนดให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้จัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง
ดังนั้น ในการประชุมจัดทำหลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายครั้งนี้ ขอให้คำนึงถึงหน่วยงาน/สถานศึกษาที่ต้องนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม มีความสะดวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงการส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ให้เชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ความต้องการและนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ในการฝึกอบรมต้องคำนึงการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนเป็น 2 มิติ ทั้งมิติสำหรับผู้เรียนที่ต้องการใบรับรองวุฒิการศึกษาและหลักสูตรการฝึกอบรมที่ไม่ต้องการใบรับรองวุฒิการศึกษา เพื่อประโยชน์การพัฒนาตนเอง ในการต่อยอดอาชีพ พัฒนา ทบทวนทักษะอาชีพ และเข้าสู่อาชีพใหม่ (Up skills Reskill New skills) ให้สอดคล้องกับระเบียบการเบิกจ่ายของกระทรวงการคลัง
นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยแนวทางการจัดการศึกษาต่อเนื่องเดิม และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ระเบียบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับค่าวิทยากรและค่าวัสดุฝึกไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สถานศึกษาไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับข้อตรวจพบและข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้แจ้งการเปิดตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 ที่พบว่าการดำเนินงานโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดและมีข้อเสนอแนะในประเด็นหลักถึง 6 ด้าน อาทิ เช่น ควรพิจารณาปรับปรุงค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาต่อเนื่อง การพัฒนาหลักสูตร
อาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้ในชีวิตประจำวันได้จริง การพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผลิต ศกร.ดีเด่น/พรีเมี่ยมให้มีมาตรฐาน การกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมฝึกอบรม เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีคุณภาพ หลังจากจัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วเสร็จ สกร.จะดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายและประกาศใช้ในระดับพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป

Skip to content